ระวัง! หนอนชอนใบส้ม-แมลงค่อมทอง…โจมตีมะนาวช่วงหน้าฝน

 ลักษณะการทำลายของแมลงค่อมทอง...มันจะกัดกินใบอ่อนและยอดอ่อน

กรมวิชาการเกษตร….ออกโรงเตือนเกษตรกรชาวสวนมะนาว บอกช่วงหน้านี้มีสภาพอากาศชื้น และเข้าสู่ช่วงฤดูฝน แนะเฝ้าระวังแมลงศัตรูพืช คือ หนอนชอนใบส้ม และแมลงค่อมทอง สามารถพบได้ในระยะที่มะนาวแตกใบอ่อน

loading...
หนอนชอนใบส้ม มักพบหนอนกัดกินภายใต้ผิวของใบอ่อนและยอดอ่อน จะเห็นรอยทำลายที่หนอนเดินเป็นทางคดเคี้ยวไปมาบนใบ ทำให้ใบหงิกงอ แห้ง ส่งผลให้ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ และใบอาจจะร่วงก่อนกำหนด ซึ่งรอยแผลที่ถูกหนอนกัดกินทำลายจะเป็นช่องทางการเข้าทำลายของโรคแคงเคอร์ได้
 ลักษณะการทำลายของหนอนชอนใบส้ม
สำหรับแนวทางในการป้องกันและแก้ไข หากพบการระบาดของหนอนชอนใบส้ม ให้เกษตรกรตัดแต่งใบอ่อนที่ถูกหนอนเข้าทำลายมาเผาไฟทิ้งนอกแปลงปลูก และให้พ่นด้วยปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  หรือสาร อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
ช่วงฤดูฝนที่มะนาวมีใบอ่อนต้องระวัง…มันจะลุกลามไปทั้งสวนได้
ในส่วนของแมลงค่อมทอง จะพบลักษณะการเข้าทำลายของแมลงค่อมทองกัดกินใบอ่อนและยอดอ่อนต้นมะนาว หากพบแมลงค่อมทองเข้าทำลายมาก ใบอ่อนจะถูกกัดกินจนเหลือแต่ก้านใบ

แนวทางป้องกันแก้ไข ให้เกษตรกรเขย่าต้นหรือกิ่งมะนาวเพื่อเก็บตัวแมลงค่อมทองไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก และให้พ่นป้องกันกำจัดด้วยสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

(ข่าวโดย : อังคณา  ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร : กรกฎาคม 2559)
Powered by Blogger.