เปิด "กรุ" มหาสมบัติที่ใหญ่ที่สุด ใต้พระปรางค์วัดราชบูรณะ สมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 !!!

 เปิด "กรุ" มหาสมบัติที่ใหญ่ที่สุด ใต้พระปรางค์วัดราชบูรณะ สมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 !!!
    เพจ คลังประวัติศาสตร์ไทย  ได้โพสต์เรื่อง กรุมหาสมบัติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย! เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2013 ว่า วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา มีชื่อเสียงและความโด่งดังมากในเรื่องการถูกกลุ่มคนร้ายจำนวนหนึ่ง ลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธาน

 ในปีพ.ศ. 2499 ช่วงชิงทรัพย์สมบัติจำนวนมากมายมหาศาลหลบหนีไป ต่อมากรมศิลปากรเข้าทำการบูรณะขุดแต่งต่อภายหลัง พบทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือและเครื่องทองจำนวนมากมาย ปัจจุบันทรัพย์สมบัติภายในกรุถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องราชบูรณะ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา
  มติชนได้ตีพิมพ์บทความ "ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ" ว่า เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ทุกวันนี้
 พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต ต่อมาราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีกครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ 'กรุแตก' ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมนุมชนใน 'ตลาดเจ้าพรหม' ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว
เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น "ขุนเดช" ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ "มติชน"

   สุจิตต์ เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก "อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์" หรือ ขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์ และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชนยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง
 ▲ เครื่องทองจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ (ภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
    เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านรายงานฉบับหนึ่งของ นายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากรในยุคนั้น ซึ่ง "มติชน" จะทยอยนำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้
รายงานของนายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร
    เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2500 ได้มีเหตุบังเอิญให้ได้ค้นพบสมบัติโบราณครั้งใหญ่ขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวคือ ได้ค้นพบเครื่องทองคำราชูปโภคและพระพุทธรูปพระสถูปทองคำและพระพิมพ์ที่บรรจุไว้ในคูหาภายในองค์พระปรางค์องค์ใหญ่ในวัดราชบูรณะเป็นอันมาก นอกจากได้พบสมบัติโบราณอันล้ำค่าเหล่านั้นแล้ว ยังมีสิ่งมีค่าทางศิลปะเป็นอย่างยิ่งอีกส่วนหนึ่ง คือที่ผนังคูหาบรรจุเครื่องทองคำราชูปโภคนั้น มีภาพเขียนสีอย่างงดงามไว้เต็มทุกด้าน กรมศิลปากรจึงได้เสนอเรื่องรัฐบาลชุด พลเอกถนอม กิตติขจร ของบประมาณสร้างอุโมงค์และทำบันไดลงไปสู่ห้องภาพเขียนเพื่อเปิดให้นักศึกษา และประชาชนเข้าชมและศึกษาหาความรู้ต่อไป ซึ่งได้รับความกรุณาจากรัฐบาล โดยอนุมัติงบประมาณให้ตามที่เสนอ

พบพระพิมพ์และสัมฤทธิ์ "แน่นกรุ"
    เมื่อเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรลงไปเก็บของในห้องบรรจุเครื่องทองภายในกรุ ครั้งนั้น ได้ตรวจพบลักษณะบางประการส่อแสดงว่า อาจมีกรุเก็บของอยู่รอบนอกของห้องทองห้องนี้อีกอย่างน้อยก็หนึ่งห้อง และมีกรณีอย่างอื่นประกอบให้น่าจะเป็นจริงอย่างคาดหมายไว้ กรมศิลปากรจึงดำเนินการสร้างอุโมงค์และบันไดเสียเอง แทนที่จะเปิดประมูลให้ผู้รับเหมาจัดสร้าง เพราะถ้ามีกรุอยู่ดังคาดหมายก็จะได้นำสิ่งของขึ้นเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ แต่ถ้ามอบให้ผู้รับเหมาสร้างก็ไม่แน่ใจว่าจะได้สิ่งของเหล่านั้น ซึ่งชาติอาจสูญเสียสมบัติมีค่าไป
    ความคาดหมายของเจ้าหน้าที่ได้เป็นความจริงขึ้น เมื่อ วันที่ 10 ธันวาคม 2501 กล่าวคือ ขณะที่คนงานเจาะผนังพระปรางค์ด้านนอกของคูหาที่เคยบรรจุเครื่องทองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อหล่อเสาผนังได้พบกรุบรรจุพระพิมพ์อยู่มากมาย จึงได้รายงานให้อธิบดีกรมศิลปากรและผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ คณะกรรมการ ซึ่งทางราชการแต่งตั้งไว้เพื่อการสำรวจขุดค้นโบราณวัตถุ อันประกอบด้วยข้าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและข้าราชการกรมศิลปากรร่วมกัน จึงได้เก็บพระพิมพ์เหล่านั้นขึ้นรักษาไว้ กรุนี้คงมีแต่พระพิมพ์ หามีพระหล่อสำริดไม่ เมื่อมีประสบการณ์เช่นนี้ จึงให้ดำเนินการเจาะตรวจที่ผนังด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ดูอีก ก็พบมีกรุบรรจุพระพิมพ์และพระพุทธรูปสำริดเต็มแน่นทั้งกรุ พระพิมพ์บรรจุอยู่ตอนล่าง พระพุทธรูปสำริดวางทับพระเครื่องอยู่ตอนบน การบรรจุนั้นคงบรรจุพระพิมพ์วางซ้อนกันอย่างมีระเบียบ แต่พระพุทธรูปหล่อวางสลับซับซ้อนกันเท่าที่จะมีช่องว่างสอดบรรจุไว้ได้ ฉะนั้น พระพุทธรูปหล่อสำริดที่ได้จากกรุนี้มีจำนวน 127 องค์ ส่วนพระพิมพ์มีอยู่มากมายเช่นเคย
หาวิธีลงกรุทิศตะวันตก
    เมื่อได้พบกรุทางด้านทิศตะวันออกเช่นนี้แล้ว ก็เห็นจำเป็นที่จะลองตรวจทางด้านทิศตะวันตกด้วย แต่การที่จะเจาะตรวจทางทิศตะวันตกเป็นของยากไม่เหมือนทางด้านทิศตะวันออก เพราะทางด้านทิศตะวันออกเปิดโล่งเมื่อทำบันไดลงอุโมงค์ไว้แล้ว แต่ทางทิศตะวันตกเป็นผนังศิลาแลงที่ทึบแน่น จึงต้องใช้เวลาตรวจอย่างละเอียดว่าจะเจาะได้อย่างไรจึงจะไม่เสียหายแก่องค์พระปรางค์ และไม่ทำให้เสียความทรงตัวของผนังศิลาแลงและองค์พระปรางค์ด้วย จึงให้เจ้าหน้าที่ขึ้นไปตรวจทางเบื้องบนของกรุที่พบแล้ว เพราะทางเบื้องบนนั้นเป็นห้องกรุเก่า ซึ่งผู้ร้ายได้ขุดเจาะไว้เมื่อคราวลักลอบขนเครื่องทองคำ ความประสงค์ก็เพื่อจะหาทางลงไปสู่มุมทางด้านทิศตะวันตก โดยทางห้องกรุเก่านี้ แต่เมื่อได้ตรวจชั้นบนโดยละเอียด ก็พบลักษณะตามทางวิชาการเข้าอีก ว่าชั้นบนอาจมีกรุไม่น้อยกว่า 3 ห้อง จึงพักการหาวิธีลงไปสู่มุมชั้นล่างด้านทิศตะวันตกไว้ก่อน หันมาสนใจที่จะเปิดกรุห้องชั้นบนนี้ภายหลังที่ได้ตรวจสอบจนเป็นที่แน่ใจแล้วก็เริ่มเจาะศิลาแลงทางมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ชมคลิป
 สถานที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่เก็บสมบัติและของมีค่าไว้มากมาย อาทิ เช่น พระแสงขันธ์ มงกุฎ และมงกุฏราชินี เสื้อทองคำ และพระพุทธรูปต่างๆ พระแก้ว พระทองคำ พระนาก เนื่องจากอดีตได้มีกลุ่มคนร้ายจำนวนหนึ่ง ลักลอบชิงทรัพย์สมบัติจำนวนมากมายมหาศาลหลบหนีไป ทำให้สมัยนี้เหลือสมบัติของชาติอันทรงคุณค่า ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูและศึกษาไม่มากเหมือนสมัยก่อนแล้ว
ข้อมูลและภาพจาก khaosod
http://www.liekr.com/post_145106.html
Powered by Blogger.