ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับเฮ รพ.สุราษฎร์ธานีรักษาได้

   สุราษฎร์ธานี - ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับเฮ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี สามารถรักษาโรคมะเร็งตับด้วยการสอดท่อฉีดสารฆ่าเชื้อมะเร็งเข้าถึงจุดได้ผลเยี่ยมเป็นแห่งแรกในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน มีผู้ป่วยเข้าคิวรักษาเดือนละประมาณ 30 ราย 

  พญ.ปัทมพันธ์ อนันตาพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีร่วมรักษาของลำตัว ในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า มะเร็งตับเป็นโรคที่มีความสำคัญ เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยพบในเพศชายร้อยละ 7.9 และหญิงร้อยละ 6.5 สูงเป็นอันดับ 5 ของผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด สำหรับประเทศไทยพบว่ามะเร็งตับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต และเจ็บป่วยเรื้อรังจนเป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันควรสูงเป็นอันดับ 1
     ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับในผู้ป่วยทั่วโลก ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือซีเรื้อรัง โดยพบว่า คนไทยตรวจพบเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีมากกว่า 6 ล้านคน และตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ การดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งพบว่าคนไทยดื่มแอลกอฮอล์สูงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยเฉลี่ยพบว่ามีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งตับ 3 คนต่อวัน และแนวโน้มการผู้ป่วยโรคตับเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2556-2558) กล่าวคือ 396 ราย 415 ราย และ 440 รายตามลำดับ อาการที่บ่งบอกว่าน่าจะเป็นมะเร็งตับนั้นคือ มีอาการปวดท้อง น้ำหนักลด คลำพบก้อนในท้อง ท้องมาน หรือดีซ่าน สำหรับการรักษามี 3 วิธี คือ 1.การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก ซึ่งจะทำในรายที่พบระยะเริ่มแรก 2.การทำลายก้อนเนื้องอกโดยตรง โดยการฉีดสารบางชนิดผ่านเข็มเล็กๆ ที่สอดผ่านผิวหนังเข้าสู่เนื้องอก
         หรือใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงปล่อยพลังงานความร้อนผ่านปลายเข็มเข้าไปทำลายเนื้องอกโดยตรง เหมาะสำหรับเนื้องอกขนาดเล็กไม่เกิน 5 ซม. และไม่เกิน 5 ก้อน 3. การให้เคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดงในตับ สำหรับในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีนั้นได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการรักษา โดยการสอดใส่สายยางชนิดพิเศษเข้าทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบไปยังก้อนตับ และฉีดสารเคมีสู่ก้อนมะเร็งตับโดยตรง
  การรักษาวิธีนี้จะช่วยลดขนาด และความรุนแรงของโรค ลดความเจ็บป่วย ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดร่วมด้วย เช่น การตกเลือดจากก้อนมะเร็งตับแตก ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น การรักษาด้วยการให้เคมีบำบัดทางเส้นเลือดแดงจะทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง ลดการเจริญเติบโตของก้อน ส่งผลให้สามารถนำไปผ่าตัดเอาก้อนออกได้โดยปลอดภัย แต่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มาตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ สำหรับการรักษาโดยวิธีนี้แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย และเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งมีเกณฑ์ดังนี้ คือ เป็นก้อนขนาดใหญ่ หรือมีหลายก้อน ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากจะเหลือพื้นที่ตับน้อย หรือมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูง ต้องการลดขนาดก้อนเพื่อไปทำการผ่าตัดตับ หรือการเปลี่ยนตับ หรือเพื่อการรักษาแบบประคับประคอง และการรักษาตามอาการ
     
       ในภาคใต้ตอนบน โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีเป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวที่ให้การรักษาด้วยวิธีนี้ เนื่องจากมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรังสีร่วมรักษาของลำตัวและเครื่องตรวจเส้นเลือดที่ใช้ในการรักษาคนไข้มะเร็งตับ ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะอย่างต่อเนื่องทุกวันด้วยจำนวนคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้น เดินทางเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ประมาณเดือนละ 30 ราย
ทีมา http://manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9590000014666
Powered by Blogger.