สมัยก่อนใครที่พุงโตถือว่าโหงวเฮ้งดี มีอำนาจวาสนา แม้แต่พวกฝรั่งก็มีพุงหลามกันมากมาย เรียกว่า พุงเบียร์ (beer belly) เพราะกินเบียร์มาก คนไทยเราชอบทำตามฝรั่ง จึงไม่เห็นว่าพุงโตมันไม่ดีอย่างไร
loading...
แม้ว่าฝรั่งสมัยนี้จะยังมีคนพุงโตอยู่มากทั้งชายและหญิง แต่เขาก็ฉลาดขึ้น มีความรู้มากขึ้น และได้ทำการศึกษาเรื่องพุงโต หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อ้วนกลาง (central obesity) กันมากขึ้น
เตือน! พุงโต เสี่ยงตายเร็ว รีบแก้ไขก่อนสายเกินไป
เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานการศึกษาในวารสาร Journal of Internal Medicine ซึ่งทำการศึกษาในคน 15,000 คน ใช้เวลาติดตาม 14 ปี พบว่า คนที่พุงหลามแม้จะมีน้ำหนักปกติ แต่ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก ผู้ชายพุงโตแม้จะมีน้ำหนักตัวตามเกณฑ์ก็ยังตายเร็วกว่าคนพุงไม่โตถึง 2 เท่า
ส่วนผู้หญิงที่พุงหลามแม้น้ำหนักตัวจะปกติก็ยังตายเร็วกว่าหญิงอ้วนที่พุงไม่หลาม 32% การศึกษานี้ทำโดยหมอโรคหัวใจ ฟรานสิสโก โลเปซ-จิเมเนซ โรงพยาบาลเมโยคลินิก
ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจอีกคนหนึ่งคือ เลสลี่ โจ ที่คลีฟแลนด์คลินิก มลรัฐโอไฮโอ ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า คนเรามักจะคิดว่าถ้าเรามีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติก็โอเคแล้ว แต่ที่จริงแล้วน้ำหนักยังไม่สำคัญเท่าความฟิตของร่างกายและการพอกพูนของไขมันในที่ๆ ดี (ที่ไม่ใช่พุง) ดังนั้นพุงโตจึงเป็นสิ่งที่ไม่ดี การจะวัดว่าพุงโตหรือไม่ทำได้โดย ให้วัดรอบเอวแล้วหารด้วยรอบสะโพก ถ้าผลลัพธ์เท่ากับ 0.9 หรือมากกว่าในผู้ชาย และเท่ากับหรือมากกว่า 0.85 ในผู้หญิง ถือว่าพุงโตตามนิยามขององค์การอนามัยโลก
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าไขมันมีหลายชนิดเหมือนกับที่คอเลสเตอรอลมีหลายชนิดทั้งชนิดดีและชนิดไม่ดี เซลล์ไขมันที่พุงอาจจะแลดูเหมือนกับเซลล์ไขมันที่อื่นภายใต้กล้องจุลทรรศน์ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเซลล์ไขมันที่ทำงานรอบจัดกว่าไขมันที่อื่น ไขมันที่พุงจะเข้าไปพอกในตับและผลิตสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งมีผลทำให้เกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจขาดเลือด
การศึกษานี้ทำให้เรารู้ถึงข้อเสียหรือข้อจำกัดของการใช้ดัชนีมวลกาย หรือ BMI (body mass index =น้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลัง 2) ในการพยากรณ์ความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดหรือความเสี่ยงตาย เนื่องจากปกติเรานิยามความอ้วนโดยใช้ค่าดัชนีมวลกายดังนี้
• BMI 18.5 – 24.9 ถือว่าน้ำหนักปกติดี
• BMI 25 – 29.9 ถือว่าน้ำหนักเกิน (over weight)
• BMI มากกว่า 30 ถือว่าเป็นโรคอ้วน (obese)
ถ้าเราดูเฉพาะค่านี้เพียงอย่างเดียว เราจะไม่สามารถบอกหรือประเมินความเสี่ยงได้หมด คือถ้าคนเรามีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ไขมันไปพอกอยู่ที่พุง คนๆ นั้นจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดหรือเสี่ยงตายมากกว่าคนที่ไขมันกระจายไปทั่วร่างกายอย่างเท่าเทียมกัน
ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่าไขมันที่พอกใต้สะดือลงไป เช่น ที่ก้น สะโพก ต้นขา ดูเหมือนจะมีผลดีในทางปกป้องโรคหัวใจ แต่เขายังไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร ท่านทั้งหลายที่สนใจเรื่องสุขภาพควรให้ความสนใจเรื่องอัตราส่วน เอว-สะโพก เพิ่มขึ้นจากค่าดัชนีมวลกาย และควรให้ความสำคัญในการออกกำลังกายสร้างมวลกล้ามเนื้อมากกว่าแค่ลดน้ำหนักอย่างเดียว
การลดไขมันเฉพาะที่จะใช้วิธีออกกำลังกายเฉพาะที่ท้องไม่ได้ผล จำเป็นต้องลดน้ำหนักทั้งตัวโดย การลดการกิน คือลดจำนวนแคลอรี ไม่ว่าจะเป็นแคลอรีจากแป้ง น้ำตาล ไขมัน โปรตีน แอลกอฮอล์ ฯลฯ ร่วมกับ การออกกำลังกายเป็นประจำ เมื่อทำแบบนี้แล้วไขมันที่อยู่ตามส่วนต่างๆ ของท้องจะลดลงพร้อมกัน ทำให้ไขมันที่พอกพูนอยู่ในชั้นต่างๆ ของท้องลดลง ทำให้พุงยุบ เมื่อพุงยุบลง กล้ามเนื้อหน้าท้องหรือ ”ซิกแพ็ค” ก็จะปรากฏออกมาให้เห็น (โดยเฉพาะในคนที่ฟิตหน้าท้องด้วย)
การไว้พุงเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่อันตราย คนมีความรู้เรื่องสุขภาพสมัยนี้ต่างก็ลดพุงกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี แม่ทัพนายกอง ไปจนถึงอาเสี่ย ซีอีโอ ฯลฯ ถ้าท่านเป็นอีกคนหนึ่งที่สนใจเรื่องสุขภาพก็ควรใส่ใจเรื่องลดพุงให้ลงมาสู่ค่าปกติ ซึ่งจะทำให้ท่านสุขภาพดีขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ทำให้อายุยืนอยู่รอดปลอดภัย ลดความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ และการหมดสมรรถภาพในทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งเรื่องบนเตียงด้วย
article : นพ.นริศ เจนวิริยะ – ศัลยแพทย์
แหล่งข้อมูล…http://www.healthtoday.net
ที่มา:http://www.lovenayou.com/4723/