มหากาพย์ซัมซุง ถามจริงเหอะ! ทำไม “กาแล็กซีโน้ต7” ระเบิด

 “กาแล็กซี โน้ต7” จากค่ายซัมซุง เป็นเรือธงแฟ็บเล็ตที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะดีที่สุดในโลก แต่ต้องประกาศเรียกคืนแฟ็บเล็ตนี้กว่า 2,500,000 เครื่องทั่วโลก แม้ไม่ใช่ทุกเครื่องที่จะมีโอกาสระเบิดก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่แทบทุกคนตั้งคำถาม ก็คือ เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นกับซัมซุง หนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีของโลกได้อย่างไร และสาเหตุคืออะไรกันแน่
 เว็บไซต์ซีเน็ต (C-NET) หนึ่งในเจ้ายุทธจักรแวดวงไอที ระบุว่า คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ถึงสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ในโน้ต7 บางเครื่องนั้นไม่ใช่เรื่องลึกลับ เพราะแบตเตอรี่ที่ใช้นั้นเป็นชนิด ลิเธียมไอออน และของเหลวที่อยู่ในภายในแบตเตอรี่ชนิดนี้เป็นสารไวไฟสูงอยู่แล้ว

โดยเฉพาะกรณีที่เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร อาจจะมาจากการที่แผ่นกั้น (Seperator) ระหว่างลิเทียมออกไซด์บริสุทธิ์เป็นขั้วบวก (แคโทด) กับกราไฟต์ เป็นขั้วลบ (แอโนด) เกิดรูรั่วทำให้บริเวณนั้นมีอุณหภูมิของอิเล็กโตรไลท์ซึ่งไวไฟ (สารนำไฟฟ้า) พุ่งสูงขึ้นจนเกิดไฟไหม้ ยิ่งแพ็คมาแน่นเท่าไหร่ยิ่งระเบิดรุนแรงเท่านั้น (เหมือนจุดประทัดที่กำไว้ในมือ ผลลัพธ์ก็คือ มือแหก)
 กาแล็กซี โน้ต7 ไม่ใช่สมาร์ตโฟนรุ่นเดียวในโลกที่มีปัญหาเช่นนี้ เมื่อปี 2552 ค่ายโนเกีย จากประเทศฟินเเลนด์ อดีตผู้ครองบัลลังก์มือถือก็เคยต้องเรียกคืนแบตเตอรี่ในโทรศัพท์กว่า 46 ล้านชิ้น เนื่องจากพบความเสี่ยงของการลัดวงจร ที่จะนำไปสู่การระเบิดและทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต

กล่าวคือ ไม่มียี่ห้อไหน รุ่นใด ที่ปลอดภัย ไม่แม้แต่ ไอโฟน ของแอปเปิ้ล จากสหรัฐอเมริกา ก็เคยระเบิดและทำให้ผู้ใช้ได้รับบาดเจ็บมาแล้วในปี 2558 มาจนถึงปีนี้

แม้ในขณะนี้ กาแล็กซี โน้ต 7 จะครองพาดหัวข่าวเรื่องมือถือระเบิด ก็ยังมีข่าวมือถือรุ่นอื่นของซัมซุงระเบิดด้วย อาทิ กาแล็กซี คอร์ ที่ทำให้เด็กอายุ 6 ขวบ บาดเจ็บในสหรัฐ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

หากจะกล่าวถึงต้นเหตุที่แท้จริง นั่นคือ คุณสมบัติของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ไวไฟ แต่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังยืนยันที่จะใช้มันต่อไป ด้วยความสะดวกที่ทำให้แบตเตอรี่มีขนาดเล็กและสามารถจุประจุไฟฟ้าได้มาก

ว่ากันตามสถิติ
แต่อย่าเพิ่งตกใจ ไม่ใช่เพียงเพราะแบตเตอรี่ระเบิดได้ แล้วหมายความว่ามันจะต้องระเบิดเสมอ ต่อให้เป็นโน้ต 7 ก็ตาม ยอนฮับ สำนักข่าวเกาหลีใต้ รายงานถึงคำให้สัมภาษณ์จากเจ้าหน้าที่ของซัมซุง ว่าความผิดพลาดในการผลิตกาแล็กซีโน้ต7 นั้นต่ำกว่าร้อยละ 0.01

 พูดเป็นภาษาให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ ต่ำกว่า 1,000 เครื่อง จากทั้งหมด 2.5 ล้านเครื่องที่ผลิตออกมาแล้ว ถือเป็นความผิดพลาดที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากมาก

แต่ที่น่ากังวล คือ ความเสียหายที่เกิดจากการระเบิด และความถี่ของเหตุการณ์ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ โน้ต 7 เสียหายอย่างรุนแรง เพราะรายงานการระเบิดของ กาแล็กซี โน้ต 7 เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 112 ครั้งแล้วปีนี้ หลังวางจำหน่ายได้เพียง 1 เดือน แบ่งเป็น 92 ครั้งในสหรัฐ 17 ครั้งในเกาหลีใต้ 2 ครั้งในออสเตรเลีย และอีก 1 ครั้งในไต้หวัน

แล้วทำไมมันต้องเป็น “โน้ต 7” ที่ระเบิด
อาจเป็นเพราะแบตเตอรี่ในโน้ต7 นั้นผลิตมาด้วยเครื่องในที่แน่นเกินควร….หมายความว่าอะไร?

บลูมเบิร์ก เปิดเผยรายงานการสืบสวนเบื้องต้นถึงกรณีการระเบิดในโน้ต 7 ซึ่งทางซัมซุงส่งให้กับสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า เกิดความผิดพลาดในการผลิตที่ขั้นตอนการกำหนด “แรงกด” ของแต่ละชั้นภายในแบตเตอรี่ ส่งผลให้ขั้วบวกและขั้วลบที่ควรจะต้องถูกกั้นไว้ด้วยแผ่นเมมเบรน มาสัมผัสกันและเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
“ข้อผิดพลาดนี้จะเผยให้เห็นก็ต่อเมื่อปัจจัยหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น กระบวนการประกอบชิ้นส่วนย่อยในแบตเตอรี่ก่อให้เกิดแรงกดที่ไม่เสมอกันทำให้ขั้วทั้งสองมีเมมเบรนกั้นไม่หนาเพียงพอ” ผู้แทนซัมซุงระบุ
กล่าวคือ แผ่นเมมเบรนที่กั้นระหว่างขั้วบวกและลบในแบตเตอรี่ของโน้ต 7 เกิดรูรั่ว กลายเป็นทางลัดให้อนุภาคอิเล็กตรอนผ่านได้เร็วและมาก ก่อให้เกิดความร้อนและความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ เรียกว่า ไฟฟ้าลัดวงจร
ศาสตราจารย์ดอน ซาโดเวย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ ภาควิชาเคมี จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเส็ตส์ สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้ในสมาร์ตโฟนปัจจุบันถูกผลิตขึ้นจากกรรมวิธีการ “ประกบ” ชั้นสารและส่วนประกอบภายใน โดยผู้พัฒนาแบตเตอรี่ก็ได้รับ “แรงกดดัน” ให้ประกบชั้นสารแต่ละชั้นเข้าไปให้ได้มากที่สุดในก้อนแบตเตอรี่เพื่อทำให้แบตเตอรี่มีความจุไฟฟ้ามากที่สุด

 เทียบให้เห็นภาพของลองนึกถึงม้วนกระดาษชำระที่ม้วนมาไม่แน่นแต่พองเท่ากันกับอีกม้วนที่แน่นกว่า กระดาษชำระที่ม้วนมาไม่แน่นก็ใช้หมดเร็วกว่า
ศ.ซาโดเวย์ ระบุว่า ข้อผิดพลาดน่าจะเกิดขึ้นได้ 2 แบบ ประการแรก คือ แรงกดมากเกินไปทำให้สารในขั้วใดขั้วหนึ่งโผล่ผ่านรูของแผ่นเมมเบรนที่กั้นระหว่างขั้วไว้

กับอีกประการหนึ่ง คือ ปัญหาอาจอยู่ที่แผ่นเมมเบรน ซึ่งมีลักษณะเป็นรูเล็กๆ ให้สารสื่ออนุภาคไหลผ่านได้ ถูกแรงกดตอนประกอบมากเกินไป ทำให้รูของเมมเบรนมีขนาดเล็กลง และนั่นย่อมส่งผลให้ความต้านทานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และความร้อนเพิ่มสูงตามไปด้วย

ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่ระเบิดเลยแต่แรก
หากผู้ใช้สังเกตแบตเตอรี่ในสมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ทุกวันนี้มักร้อนมากในระยะการชาร์จเริ่มแรก โดยปริมาณประจุไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเริ่มช้าลงตอนแบตใกล้เต็ม และร้อนน้อยลงด้วย จึงเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมโน้ต7 จึงไม่ระเบิดตั้งแต่ตอนเสียบชาร์จในระยะแรกที่ความร้อนพุ่งสูงมาก

เพราะทุกกรณีการระเบิดของโน้ต7 บ่งชี้ว่า สมาร์ตโฟนดังกล่าวถูกเสียบชาร์จทิ้งไว้สักพักหนึ่ง หรือชาร์จไว้ข้ามคืน

นอกจากนี้ ทางซัมซุง ยังเตรียมผลักดันเฟิร์มแวร์รุ่นพิเศษสำหรับโน้ต7 ที่หลังอัพเดตแล้วจะส่งผลให้แบตในโน้ต7 ชาร์จได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 60 เพื่อป้องกันกรณีผู้ใช้บางคนไม่ได้นำเครื่องเก่าไปแลกเครื่องใหม่ตามที่ซัมซุงแนะนำ ฟังดูไม่สมเหตุสมผลกับคำอธิบายของศ.ซาโดเวย์

ศ.ซาโดเวย์ อธิบายว่า เนื่องด้วยแรงกดตอนประกอบแบตที่ไม่สม่ำเสมอทำให้แผ่นเมมเบรนอาจมีความหนาไม่เท่ากันทั่วทุกพื้นที่ ทำให้ระบบไม่สามารถทราบได้ว่าแบตเต็มแล้ว จึงชาร์จแบตต่อไป

กรณีนี้หากชาร์จต่อไป ลิเทียมไอออน ซึ่งมีประจุบวก จะผ่านเมมเบรนไปเคลือบ (เพลทติ้ง) บนแผ่นขั้วลบ หนามากขึ้นเรื่อยๆ และอาจกลายเป็นเสาแหลม (เด็นไดรท์) ทะลุผ่านเมมเบรนไปหาขั้วบวก กลายเป็นสะพานระหว่างสองขั้วที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรในที่สุด ฟังสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้แทนซัมซุงบอกไว้ท่อนหนึ่งที่ว่า “แรงกดที่ไม่เสมอกัน”
“ถ้าให้ผมเดา การขีดเส้นไม่ให้ระบบชาร์จเกินปริมาณความจุไฟฟ้าสูงสุดร้อยละ 60 น่าจะทำให้หลีกเลี่ยงการเกิดกรณีข้างต้นขึ้นได้ เหมือนเติมแก๊สใส่ถัง แต่มาตรวัดไม่ดี เราก็แค่หยุดเติมแก๊สก่อนมันจะเต็มถังเพื่อความปลอดภัย” ศ.ซาโดเวย์ กล่าว

แล้วจะทำอย่างไรกันต่อไปดี
ที่ระบุมาข้างต้นนั้นเป็นหลากหลาย “ทฤษฎี” ที่เป็นไปได้มากที่สุด เพราะเอาจริงๆ ข้อมูลทั้งหมดที่สื่อได้รับมาขณะนี้ก็ยังไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดารัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ใช้กำลังเผฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องใช้เวลาคาดว่า ไม่ต่ำกว่า 6 เดือนในบางกรณี
สำหรับผู้ที่ได้ โน้ต 7 มาไว้ในมือแล้ว (ในประเทศไทยยังไม่น่าจะมี) ควรนำไปเปลี่ยนเครื่องล็อตใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัย

สำหรับที่สหรัฐสามารถเปลี่ยนได้ตั้งแต่ 21 ก.ย.นี้ โดยเครื่องโน้ต 7 ล็อตใหม่จะใช้แบตเตอรี่จากผู้ผลิตรายอื่น และไม่ใช่ของค่าย เอสดีไอ ที่มีปัญหา (เอสดีไอ เป็นของซัมซุงเอง) หรือขอเงินคืน หรือสามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเรือธง กาแล็กซี เอส 7
หากไม่ทำตามนี้ โน้ต 7 ในมือจะถูกบังคับให้อัพเดตและชาร์จได้ไม่เกินร้อยละ 60 ส่วนล็อตใหม่จะไม่ได้รับการอัพเดตเฟิร์มแวร์นี้
https://www.khaosod.co.th/sci-tech/news_14031
Powered by Blogger.